ปรึกษาผลิตภัณฑ์กับเรา

ดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ: คู่มือการดูแลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

15-May-2012     อ่าน : 10730 คน


 

 

ดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับ: คู่มือการดูแลและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

ตับมีหน้าที่สร้างน้ำดีเพื่อย่อยและดูดซึมไขมัน เก็บสำรองอาหาร นอกจากนี้ยังกำจัดสารพิษที่ลำไส้ดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด  และยังเป็นแหล่งพลังงานสร้างความร้อนให้แก่ร่างกาย ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย ถ้าเซลล์ตับถูกทำลายเสื่อมสภาพไปจะมีผลต่อสุขภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตามตับเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์แม้ว่ามีเซลล์ตับที่ดีเหลืออยู่เพียงร้อยละ 10-15 แต่ตับก็ยังสามารถรับภาระหน้าที่  ต่าง ๆ ของตนเองที่จะประคับประคองชีวิตได้

เมื่อตับถูกทำลายจากมะเร็ง ผู้ป่วยมักมีอาการจากโรค อาทิ ไม่สบายท้อง อืดแน่น ปวดท้อง ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต มีน้ำในช่องท้อง การดูแลแก้ไขต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก เพราะอาการที่เกิดขึ้นมักปรากฏเมื่อเป็นมากแล้ว อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลมีความเข้าใจวิธีการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ ก็นับว่าเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไม่น้อย

การดูแลแก้ไขอาการท้องอืดเบื้องต้น

1. การหลีกเลี่ยงสาเหตุ ได้แก่ 

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน อาทิ กินให้ตรงเวลา ครั้งละน้อยๆ แต่แตกย่อยมื้ออาหารเป็นหลายมื้อ เคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียด คลุกเคล้าอาหารให้ดีก่อนกลืน อย่ากินอิ่มจนเกินไป หลังอาหารไม่ควรนอนราบทันที เพราะ การนอนราบ ส่งผลให้ระดับของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะอยู่ในระนาบเดียวกัน และอาจทำให้กรดไหลจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหารได้ เกิดการระคายเคือง และหลอดอาหารอักเสบได้
  • งดอาหารที่จะปัญหาเรื่องท้องอืด อาทิ อาหารไขมันสูง พืชผักที่จะก่อให้เกิดแก๊ส เช่น คึ่นไช่ งดอาหารกากใยหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน และกลืนลมลงท้อง เช่น การพูดมากๆ การกลืนน้ำลายบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดของเหลวผ่านหลอด การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ ควรดื่มน้ำจากแก้วแทน

2. การใช้ยาขับลม แก้ท้องอืด

ยาที่ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีมากมาย เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว ยาขับลม ไดเมทิโคน ไซเมทิโคน ก๊าสเนป ยาลดกรด โซดามิ้นต์ เมโทรโคล พาไมด์ ดอมเพอริโดน เป็นต้น ยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ได้ผลดี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

3. สมุนไพรขับลม แก้ท้องอืด

สมุนไพรหลายชนิด ซึ่งรวมถึง "ยาหอม" จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้ผลดี เช่น ขิง น้ำขิง ขมิ้นชัน การพลู ชะพลู พริกไทย กะเพรา ดีปลี กระเทียม เปล้าน้อย ลูกกระวาน เกล็ดสะระแหน่ เป็นต้น

รู้จักอาการดีซ่าน (jaundice)

"ดีซ่าน" หมายถึง การที่น้ำดีของร่างกายกระจายออกจากที่ๆ ควรอยู่ออกมาข้างนอก ทำให้เราเห็นส่วนต่างๆ ที่มันไปแทรกจับอยู่กลายเป็นสีของน้ำดีไป อาการที่เห็นคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง สารสีเหลืองนี้ คือ บิลลิรูบิน ซึ่งมีที่มาจากเม็ดเลือดแดงที่แตกสลายตามอายุขัย เมื่อแตกแล้วมันจะถูกนำไปที่ตับ และถูกเปลี่ยนให้กลายไปเป็นสีน้ำดี จากนั้นก็ถูกใช้ไปพร้อมกับการย่อยอาหารและขับถ่ายไปเป็นสีเหลืองในอุจจาระ (และปัสสาวะ) ดังนั้นหากความผิดปกติหรือโรคที่เกิดขึ้นในขั้นตอนเหล่านี้ ก็จะมีผลทำให้เกิดการคั่งค้างของสารบิลลิรูบินจนเกิดตัวเหลืองตาเหลืองได้ 

อาการดีซ่านจากสาเหตุบางอย่างสามารถรักษาเพื่อประคับประคองได้ อาทิ ดีซ่านจากท่อน้ำดีอุดตัน รักษาโดยวิธีใส่ท่อเข้าไปในท่อน้ำดีผ่านทางผิวหนังหรือการผ่าตัด (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage : PTBD) การดูแลบริเวณท่อระบายน้ำดีที่ติดกับผิวหนังทำโดยการปิดทับด้วยผ้าก๊อสสะอาดปราศจากเชื้อ และใช้พลาสเตอร์ยึดท่อระบายกับผิวหนัง เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายถูกดึงรั้งและเลื่อนหลุด ระยะเวลาของการใส่ท่อระบายน้ำดีขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของแพทย์ โดยประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าน้ำดีจะไหลลงสู่ลำไส้ได้ตามปกติ แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของท่อทางเดินน้ำดีบางส่วนไม่อาจทำการใส่ท่อได้ เนื่องด้วยภาวะบางประการ ได้แก่ ภาวะเลือดแข็งตัวช้า, ภาวะติดเชื้อในระบบไหลเวียนเลือด, มีน้ำในช่องท้อง, มะเร็งระยะสุดท้ายและมีอาการเพียงเล็กน้อย และมะเร็งแพร่กระจายในเนื้อตับ/อุดตันหลายตำแหน่ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการพิจารณาทำหัตถการอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการต่อไป

หลังได้รับการใส่ท่อระบายน้ำดี ขณะอยู่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่จะสังเกตอาการและบันทึกปริมาณน้ำดีที่ไหลออกมา และให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการทำแผล การสังเกตน้ำดี และการเปลี่ยนถุงรองรับน้ำดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาจมีอาการปวดโดยเฉพาะในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรกของการใส่ท่อ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ระหว่างนี้ผู้ป่วยควรนอนหงายโดยใช้หมอนหนุนใต้เข่า ห้ามนอนทับท่อระบาย ถ้าใส่ท่อระบายที่ชายโครงขวาก็ห้ามนอนตะแคงขวาเพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายหัก พับ งอ ระวังไม่ให้ท่อระบายถูกดึงรั้ง หรือเลื่อนหลุด พยายามให้ถุงหรือขวดรองรับน้ำดี อยู่ระดับต่ำกว่าเอวเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำดีไหลย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หากพบว่ามีน้ำดีไหลซึมหรือพลาสเตอร์เลื่อนหลุด ท่อระบายหัก พับงอ น้ำดีขุ่นหรือเปลี่ยนสีจากสีเหลืองเป็นสีอื่น หรือน้ำดีไม่ไหล หรือไหลน้อยลงกว่าเดิมให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาล

เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านจะต้องดูแลท่อระบายน้ำดีเอง ต้องระวังไม่ให้แผลท่อระบายน้ำดีสกปรกหรือเปียกน้ำ ควรทำความสะอาดแผลทุกวัน โดยปฏิบัติดังนี้

  • ล้างมือฟอกสบู่ 2-3 ครั้ง แล้วเช็ดด้วยผ้าสะอาดหรือสะบัดมือแรงๆ จนแห้งก่อนทำแผล
  • ใช้สำลีสะอาดชุบน้ำยาเบตาดีน เช็ดผิวหนังรอบๆ แผล และท่อระบายที่ติดกับผิวหนังด้วย เนื่องจากท่อระบายนี้จะเลื่อนเข้าออกตามการหายใจ ใช้สำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์ 70% ทำความสะอาดซ้ำด้วยวิธีเดียวกัน
  • ปิดแผลด้วยผ้าก๊อสปลอดเชื้อ โดยใช้ผ้าก๊อสหนุนท่อระบาย และติดพลาสเตอร์ให้ท่อระบายแนบกับผิวหนังหน้าท้อง เพื่อป้องกันการหักพับของท่อ
  • ใช้พลาสเตอร์ติดยึดท่อระบายกับผิวหนังหน้าท้องเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันท่อระบายถูกดึงรั้งและเลื่อนหลุด

นอกจากใส่ท่อระบายน้ำดีเพื่อบรรเทาอาการดีซ่านแล้ว อาการดีซ่านบางอย่างควบคุมได้ด้วยยา แต่บางอย่างไม่สามารถรักษาให้หายขาด เช่น เนื้องอกลุกลามที่ตับ

ภาวะท้องมาน (ascites)

สาเหตุของภาวะท้องมานหรือท้องมีน้ำในผู้ป่วยมะเร็งตับ อาจมาจากตับแข็งซึ่งเป็นภาวะที่มักพบร่วมกับมะเร็งตับ, เกิดจากมะเร็งแตกมีเลือดออก, มะเร็งกินเข้าเส้นเลือดดำใหญ่ในระบบ portal กรณีนี้แก้ไขยาก จะมีน้ำในท้องมาก และมีไตวายแทรกเร็ว, มะเร็งตับเป็นมากจนทำให้ตับทำงานไม่ได้

สำหรับการรักษาหากสาเหตุมาจากตับแข็งอย่างเดียว ในรายที่มีอาการบวม ขาหรือท้องมาน ควรควบคุมการกินเกลือและอาหารดองเค็ม รวมทั้งน้ำปลา ซีอิ้ว ด้วย เพราะจะทำให้บวมมากขึ้น เนื่องจากมีภาวะเกลือคั่งมากกว่าปกติอยู่แล้ว ในรายที่มีอาการบวมมาก แพทย์อาจสั่งยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยลดภาวะท้องมาน และบวม หากเป็นสาเหตุอื่น เมื่อมีน้ำคั่งมาก การรักษาอาจทำการเจาะน้ำออกเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการรักษาประคับประคอง และแพทย์จะให้ 20-25% human albumin 50 ml เมื่อเจาะน้ำออกมากกว่า 5-6 ลิตร กรณีต้องเจาะน้ำออก ผู้ป่วยอาจเพิ่มอัลบูมินด้วยการรับประทานอาหารที่มีอัลบูมิน อาทิ ไข่ขาว เพราะอัลบูมินมีคุณสมบัติอุ้มน้ำ ทำให้ช่วยป้องกันภาวะบวมน้ำได้

 

  

ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Tag ที่เกี่ยวข้อง

ความรู้มะเร็ง การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มะเร็งตับ

มะเร็งกับการดูแล

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับอาหาร

บริษัท เฟยดา จำกัด

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.