วิธีแก้ไขอาการข้างเคียงที่พบบ่อยจากเคมีบำบัด
03-Oct-2011
อ่าน : 7575 คน
.jpg)
วิธีแก้ไขอาการข้างเคียงที่พบบ่อยจากเคมีบำบัด
เนื่องจากยาเคมีบำบัดเมื่อเข้าสู่ร่างกายและผ่านสู่อวัยวะทางกระแสเลือดแล้ว ยาเคมีจะไปทำลายเซลล์มะเร็งเเละทำลายเซลล์ปกติด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตและมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร, เส้นผม, เม็ดเลือด ดังนั้น จึงเกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละครั้งต่อเซลล์ อาการไม่พึ่งประสงค์ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อยา ของร่างกายผู้ได้รับยาเคมีบำบัดนั้น
อย่างไรก็ตาม อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจะหายไปเมื่อสิ้นสุดการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์จะขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาของร่างกายผู้ได้รับยาเคมีบำบัดนั้น เมื่อหยุดยาเซลล์เหล่านี้ก็จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว จึงต้องมีระยะพักระหว่างให้ยาแต่ละครั้ง ก็เพื่อให้เซลล์เหล่านี้ฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ
ข้อควรปฏิบัติในการดูแลตนเองเมื่อเกิดผลข้างเคียงเคมีบำบัด
1. คลื่นไส้ อาเจียน อาจเริ่มมีอาการ เกิดขึ้น 1-6 ชั่วโมงหลังได้รับยา วิธีการดูแล
- ก่อนให้ยาเคมีบำบัด 3-4 ชั่วโมง ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย
- หลังการให้ยาเคมีบำบัด รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย หรือ อาหารเหลวใส เช่น น้ำซุป ครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง
- หลีกเลี่ยง อาหารที่มีรสจัด หวาน เค็มหรือ มีไขมัน และของทอดทุกชนิด รวมทั้งงดอาหารที่ใส่เครื่องเทศ
- งดเครื่องดื่มจำพวกน้ำอัดลม เหล้า/เบียร์ งดการสูบบุหรี่
- ทำความสะอาดปากและฟันหลังอาหารทุกมื้อ
- ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ ให้พักผ่อนและสูดหายใจยาวๆ ลึกๆ ช้าๆ ใช้การผ่อนคลายอารมณ์ เช่น การฟังดนตรี การดูทีวี เป็นต้น
- สำหรับบางคนที่มี อาการคลื่นไส้และอาเจียนมากตลอดวัน และรับประทานอาหารได้น้อยมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยา /น้ำเกลือเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว
2. แผลในปาก
- แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ใช้ยาสีฟันที่ไม่ระคาย เคืองและบ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
- รับประทานอาหารอ่อนๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ วันละ2500- 3000 ซีซี (ถ้าไม่มีข้อจำกัดหรือมีโรคประจำตัว)
- อมน้ำแข็งบด จะช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น
- ถ้ามีแผลในปากมาก แพทย์จะพิจารณาให้ยาเพื่อรักษาอาการ
3. ผมร่วง
- ให้ตัดผมสั้น การดูแลผมจะง่ายกว่าในกรณีที่เกิดผมร่วง
- ใช้แชมพูสระผมชนิดอ่อนๆ เช่นแชมพูเด็ก และอย่าสระผมบ่อย
- ใช้แปรงที่มีขนนิ่มๆแปรงผม หรือหวีที่มีซี่ฟันห่างๆและอย่าหวีผมบ่อย
- หลีกเลี่ยงการเป่าผม ดัดผม หรือย้อมผม
- ควรเตรียมวิกผมไว้ล่วงหน้า ก่อนผมร่วงหมด จะเข้ากับรูปหน้าที่มีผมตามธรรมชาติ มากกว่าซื้อวิกผมเมื่อผมร่วงมากแล้วโดยควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่า ควรต้องใช้วิกหรือไม่
- ใส่หมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะเวลาเดินทางออกนอกบ้าน
4. ท้องเสีย
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกแล้ว
- รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย งดเว้นการรับประทานอาหารผัก ผลไม้
- รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย รสจืด ครั้งละน้อยๆ งดอาหารที่ระคายเคือง ระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารทอด อาหารมันๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่ว โซดา งดการดื่มนม และผลิตภัณฑ์จากนม
- งดดื่ม ชา กาแฟ ตลอดจนน้ำผลไม้ทุกชนิดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานยาแก้ท้องเสียตามแพทย์สั่ง
- ควรดื่มน้ำทดแทนมากๆ เช่น น้ำอุ่น น้ำชาอุ่นๆ เป็นต้น
5. ท้องผูก
- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่นผัก และผลไม้ ธัญพืช ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือให้มากขึ้น
- ดื่มน้ำมากๆ วันละ2.5- 3 ลิตร อาจจะดื่มเป็นน้ำผลไม้ น้ำมะตูม น้ำใบบัวบก น้ำ มะขามก็ได้ถ้าไม่มีข้อจำกัดหรือมีโรคประจำตัว)
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
- ฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ดื่มน้ำอุ่นๆ ในตอนเช้า
- ใช้ยาถ่าย หรือ ยาระบาย ตามคำสั่งแพทย์
6. ผิวหนังและเล็บ
ยาบางชนิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง และเล็บ ผิวหน้าอาจมีฝ้าขึ้นหรือสีคล้ำ ผิวหนังแห้ง เล็บมีรอยดำคล้ำ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจ้า
- ด้วยการสวมเสื้อแขนยาว ใช้ร่ม หรือสวมหมวก
- ทายากันแดดที่หน้า เพื่อป้องกันฝ้า
- ทาครีมหรือน้ำมันบำรุงผิวหนังเพื่อช่วยให้ชุ่มชื่น
7. การป้องกันการติดเชื้อ
ยาเคมีบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วง 7-14 วันหลังให้ยา เนื่องจากยา บางชนิดกดการทำงานของไขกระดูก ซึ่งทำให้การสร้างเม็ดเลือดขาวน้อยลง เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ( Leukocytopenia)
- ไม่ควรไปในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ศูนย์การค้า ตลาดนัด โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงให้ห่างจากบุคคลที่ไม่สบายหรือเป็นโรคติดต่อ เช่น เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด ฯลฯ
- ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และภายหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ ไอมาก ควรรีบมาพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
8. เพศสัมพันธ์
ยาเคมีบำบัดอาจมีผลกับอวัยวะสืบพันธุ์ และหน้าที่การทำงานของอวัยวะทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่ไม่เสมอไป ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับยาที่ผู้ป่วยได้รับ อายุ และสุขภาพทั่วไปของตัวผู้ป่วยเอง
- เพศชาย ยาเคมีบำบัดจะทำให้มีการผลิตอสุจิน้อยลง (ขึ้นอยู่กับยาที่ได้รับ) แต่ผู้ป่วยก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ และสามารถมีบุตรได้ โดยการเก็บอสุจิไว้กับโรงพยาบาลก่อนได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยจึงควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์
- เพศหญิง ยาเคมีบำบัดจะมีผลทำให้บางคนมีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือน มีภาวะช่อง คลอดแห้ง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงควรใช้ครีมเพื่อช่วยหล่อลื่น นอกจากนี้ควรคุมกำเนิดในระหว่างรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เพราะทารกในครรภ์อาจเกิดความผิดปกติได้
9. อารมณ์
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด อาจมีอารมณ์แปรปรวนเนื่องจากความวิตกกังวลต่อโรคที่เป็น และต่ออาการอันเกิดจากผลข้างเคียงของยาเคมี บางรายอาจมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา จึงจำเป็นที่ครอบครัว ญาติ และเพื่อน ควรมีส่วนร่วม ในการช่วยเหลือผู้ป่วย โดยการดูแลเอาใจใส่ และพูดคุยให้กำลังใจ เพื่อให้รู้สึกสบายใจ มีกำลังใจขึ้น และคลายความวิตกกังวล ไม่ควรท้อแท้หรือหมดกำลังใจ และหยุดการรักษาโดยที่การรักษายังไม่ครบกำหนด
มะเร็งกับการดูแล
มะเร็งกับการรักษา
มะเร็งกับอาหาร