ปรึกษาผลิตภัณฑ์กับเรา

ช่วยตัวเอง ลดเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก จริงหรือ?

08-Dec-2022     อ่าน : 206 คน


    

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมรูปวอลนัทขนาดเล็กในเพศชายที่ผลิตน้ำอสุจิและขนส่งตัวอสุจิ มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งในเพศชายที่พบได้บ่อยที่สุด และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งในเพศชายมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด อย่างไรก็ตามมะเร็งต่อมลูกหมากที่ตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อยังคงจำกัดอยู่ที่ต่อมลูกหมาก มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้   

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากอาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อลุกลามมากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการแสดง เช่น

  • ปัสสาวะลำบาก
  • แรงในกระแสปัสสาวะลดลง
  • มีเลือดปนในปัสสาวะ
  • มีเลือดในน้ำอสุจิ
  • ปวดกระดูก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก

แม้ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่แพทย์ทราบดีว่ามะเร็งต่อมลูกหมากเริ่มต้นขึ้นเมื่อเซลล์ในต่อมลูกหมากมีการเปลี่ยนแปลงในดีเอ็นเอของเซลล์ ส่งผลให้เซลล์เติบโตและแบ่งตัวได้รวดเร็วกว่าเซลล์ปกติ เซลล์ที่ผิดปกติจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเมื่อเซลล์อื่นตาย เซลล์ผิดปกติที่สะสมอยู่ก่อตัวเป็นเนื้องอกที่สามารถเติบโตเพื่อบุกรุกเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง เมื่อเวลาผ่านไป เซลล์ที่ผิดปกติสามารถแตกออกและแพร่กระจาย ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่  

  • อายุที่มากขึ้น ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น  โดยเฉพาะหลังจากอายุ 50 ปี
  • คนผิวดำมีความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น  รวมถึงมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากขึ้นด้วย
  • ประวัติครอบครัวทางสายเลือด เช่น พ่อ พี่น้อง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ความเสี่ยงอาจเพิ่มขึ้น
  • นอกจากนี้หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมียีนที่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม (BRCA1 หรือ BRCA2)   ความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากอาจสูงขึ้นเช่นกัน
  • โรคอ้วน ผู้ที่เป็นโรคอ้วนอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเทียบกับผู้มีน้ำหนักตัวปกติ ทั้งนี้การศึกษายังพบอีกว่า ในคนอ้วน มะเร็งมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษาครั้งแรก

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมลูกหมาก

นอกจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังกระเพาะปัสสาวะ ยังสามารถเดินทางผ่านกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลืองไปยังกระดูกหรืออวัยวะอื่นๆ  ส่งผลกระทบต่างๆ ดังนี้

  • มะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่กระจายไปยังกระดูกอาจทำให้เกิดอาการปวดและกระดูกหักได้  
  • เมื่อมะเร็งต่อมลูกหมากได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย มะเร็งอาจยังตอบสนองต่อการรักษาและอาจควบคุมได้ แต่อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาด
  • ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากและการรักษาอาจส่งผลให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค และมีโอกาสดีขึ้นได้ โดยการรักษาด้วยยา การสวนและการผ่าตัด
  • การหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเกิดจากมะเร็งต่อมลูกหมากหรือการรักษา เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี หรือการรักษาด้วยฮอร์โมน หลังจากการรักษามะเร็งแล้ว แพทย์อาจพิจารณารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศด้วยยา อุปกรณ์สูญญากาศ และการผ่าตัด

การป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก

สามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เมื่อปฏิบัติ ดังนี้

  • เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีและหลากหลาย   
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนักและทำให้อารมณ์ดีขึ้น หากเพิ่งเริ่มออกกำลังกาย ให้เริ่มช้าๆ และเพิ่มเวลาออกกำลังกายในแต่ละวัน
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี   
  • กรณีพบว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา โดยแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหรือใช้วิธีอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยง

เคล็ดลับการรักษาต่อมลูกหมากให้แข็งแรง ด้วย S-E-X

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่าการหลั่งบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะระหว่างการมีเพศสัมพันธ์หรือการช่วยตัวเอง อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้  โดยการศึกษาในปี 2016 พบว่าผู้ชายที่หลั่งออกมาอย่างน้อย 21 ครั้งต่อเดือน ลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ประมาณ 20% เมื่อเทียบกับผู้ชายที่หลั่งเพียง 4-7 ครั้งต่อเดือน

การมีเพศสัมพันธ์หรือการช่วยตัวเอง ส่งผลต่อต่อมลูกหมากอย่างไร

ต่อมลูกหมากเป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย  อยู่ที่จุดเชื่อมต่อของระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ ซึ่งช่วยกำหนดเส้นทางของสเปิร์มในการหลั่งอสุจิ  โดยพุ่งออกมาในท่อปัสสาวะ

เมื่อสารก่อมะเร็งตามธรรมชาติถูกสร้างขึ้นในต่อมลูกหมาก สะสมเป็นความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นการพุ่งออกมาของอสุจิ อาจช่วยกวาดล้างสารก่อมะเร็งที่อาจเป็นอันตรายเหล่านี้และลดความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยมีการยืนยันจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ซึ่งพบความเชื่อมโยงทางชีววิทยาระหว่างการหลั่งบ่อยครั้งและการพัฒนาของเนื้องอกต่อมลูกหมาก

อย่างไรก็ตาม การหลั่งบ่อยๆ  ไม่สามารถช่วยชะลอการขยายตัวของต่อมลูกหมากหรือต่อมลูกหมากโต (BPH) ที่เกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นได้

นอกจากการมีเพศสัมพันธ์และการหลั่งจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ  ช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่า 100 แคลอรี  ส่งผลดีต่อร่างกายและลดความเสี่ยงโรคหัวใจ   ทั้งนี้ระหว่างการหลั่ง ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโดปามีน (Dopamine)  ซึ่งช่วยเพิ่มความรู้สึกมีความสุขและผ่อนคลาย  

การวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มีระดับแอนติบอดีที่ป้องกันการเจ็บป่วยสูงขึ้น  รวมถึงสารเอ็นดอร์ฟิน (Endorphins) ที่ปล่อยออกมาระหว่างมีเพศสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติ  อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและไมเกรนได้

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก

หากพบสัญญาณความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อยช่วงกลางดึก ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ อาจจะมีการตรวจโดยคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก และการเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) หากพบค่าพื้นฐานมีความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก  อาจส่งตรวจด้วยการทำ MRI ต่อมลูกหมาก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้

  • กรณีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก อาจใช้วิธีติดตามโรค (Active surveillance)
  • ใช้คลื่นความถี่สูง (HIFU) เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งระยะแรกและไม่รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดหรือให้คีโม
  • การผ่าตัดแบบแผลเล็ก หรือ  Minimal Invasive Surgery (MIS) เพื่อเอาต่อมลูกหมากส่วนที่เป็นมะเร็งออก สามารถทำได้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก และร่างกายแข็งแรง  เป็นการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic radical prostatectomy)    เพียงเปิดปากแผลเล็กน้อย  ไม่รบกวนเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบข้าง ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย สามารถฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว   
  • ฉายรังสี (Whole beam radiation)   โดยใช้รังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง กรณีผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอที่จะทำการผ่าตัด
  • การฝังแร่ (Brachytherapy) ด้วยการสอดแท่งรังสีขนาดเล็กเข้าไปยังต่อมลูกหมากผ่านผิวหนังบริเวณฝีเย็บ  
  • การใช้ฮอร์โมน โดยใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน สามารถใช้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ไปจนถึงระยะอื่นๆ ของมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • เคมีบำบัด มักใช้วิธีนี้เมื่อการใช้ฮอร์โมนบำบัดไม่ได้ผลเท่าที่ควร

แม้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มต้น แต่หากใส่ใจหมั่นสังเกตร่างกาย เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีและคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในกรณีที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หากตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนี้การใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ปล่อยให้น้ำหนักมากเกินไป รวมถึงมีกิจกรรมทางเพศหรือการช่วยตัวเอง อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากได้  

ขอขอบคุณข้อมูล นพ. โชติรัตน์ บุณยเกียรติ สาขาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช

 

    

ปรึกษาผลิตภัณฑ์

กรุณากรอกแบบฟอร์ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง


รู้จักโรคมะเร็ง

มะเร็งกับการรักษา

มะเร็งกับการดูแล

บริษัท เฟยดา จำกัด

โดยตั้งแต่ปี 1998 บริษัท เฟยดา จำกัด สาขาประจำประเทศไทย เริ่มดำเนินงานนำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่ายสมุนไพรเทียนเซียนแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

อ่านต่อ >>

ผลิตภัณฑ์ของเรา

ยาน้ำเทียนเซียน

เอ็กซ์แทร็คท์ พลัส

นิทรา เฮอร์เบิล ฟุทโซค

ติดต่อเรา

02-264-2217,02-264-2218,
02-264-2219
เวลาทำการ 08.30 น.-17.00 น.
[email protected]
213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 สุขุมวิท 21 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2020 บริษัท เฟยดา จำกัด. All rights reserved.